ม.สงขลานครินทร์ ภูเก็ต นำร่องฉีดวัคซีนโควิด-19 ตั้งเป้าบุคลากร-นักศึกษา ฉีดครบสิ้นเดือน มิ.ย. 64 นี้

รองศาสตราจารย์ ดร.พันธ์ ทองชุมนุม รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต เผยว่า ณ วันที่ 30 พฤษภาคม 2564 บุคลากรมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ร้อยละ 27 ได้รับวัคซีนโควิด-19 ครบ 2 เข็มแล้ว ร้อยละ 47 ฉีดเข็มแรกแล้ว และอีกร้อยละ 21 กำลังรอรับการฉีดเข็มแรก และมีจำนวนร้อยละ 5 ไม่ประสงค์จะรับวัคซีน และตั้งเป้าให้นักศึกษาได้รับการฉีดวัคซีนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 โดยปัจจุบัน นักศึกษาไทย จำนวนร้อยละ 9.08 ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว ร้อยละ 25 รับวัคซีนเข็มแรกแล้ว ร้อยละ 2 กำลังรอรับวัคซีนเข็มที่ 1 และร้อยละ 8.18 รอยืนยันวันฉีดเข็มที่ 1 ทั้งนี้ มีนักศึกษาไทยร้อยละ 43.76 ที่ยังไม่ลงทะเบียนรับวัคซีน

รองศาสตราจารย์ ดร.พันธ์ กล่าวต่อว่า เนื่องจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ถือเป็นวิทยาเขตนานาชาติ จึงมีการดำเนินการให้กลุ่มบุคลากรต่างชาติ เข้ารับการฉีดวัคซีนไปแล้วโดยถือว่าเป็นบุคลากรของมหาวิทยาลัย แต่ต้องแนบใบอนุญาตทำงาน (work permit) ประกอบตามข้อกำหนด

 

กรณีของนักศึกษาต่างชาติเนื่องจากไม่มีใบอนุญาตทำงาน (work permit) ตามข้อกำหนด แต่ถือว่าเป็นบุคลากรในนามองค์กรของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ซึ่งขณะนี้ได้หารือกับผู้เกี่ยวข้องและอยู่ระหว่างรอปรับเงื่อนไขในระบบ ซึ่งปัจจุบันคงเหลือนักศึกษาต่างชาติของวิทยาเขตภูเก็ตจำนวนร้อยละ 11.97 ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน
ทั้งนี้ วิทยาเขตภูเก็ตได้แต่งตั้งกรรมการ ภายใต้โครงการ “ม.อ.ภูเก็ต วัคซีน 100%” เพื่อดูแลการเข้ารับวัคซีนของบุคลากรทุกกลุ่มให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ สำหรับนักศึกษา ปีการศึกษา 2564 วิทยาเขตได้ประสานไปยังคณะต่างๆ เพื่อเชิญชวนนักศึกษาใหม่ทุกคน ร่วมรับวัคซีนให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนมิถุนายน 2564 เพื่อสนองนโยบายการเปิดจังหวัดภูเก็ต ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564
   “ขอเชิญชวนชาวไทยทุกคนร่วมกันฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 ในครั้งนี้ และอย่าได้กังวลถึงผลข้างเคียงตามที่เป็นข่าว เพราะในความเป็นจริงแล้ววัคซีนทุกตัวล้วนมีผลข้างเคียง โดยผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ไม่ได้สูงกว่าวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ฉีดกันตามปกติตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา การฉีดวัคซีนโควิด-19 ของท่านนอกจากจะช่วยให้ท่านรอดปลอดภัยจากการติดเชื้อโควิด-19 และลดโอกาสการที่ท่านจะเสียชีวิตหากติดเชื้อขึ้นมาแล้ว ยังเป็นการลดการแพร่การระบาดของโรคจากการที่ท่านเป็นพาหะ ลดความเสี่ยงกับบุคคลที่ท่านรักและใกล้ชิด และยังเป็นการร่วมรับผิดชอบต่อประเทศและมวลมนุษยชาติด้วย” รองศาสตราจารย์ ดร.พันธ์ กล่าวทิ้งท้าย

 

อ่านต่อ https://www.psu.ac.th/?page=news&news_code=146