เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2562 ณ ห้องประชุมแคแสด 3-4 อาคารเฉลิมพระกียรติ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ผศ.ดร.อซีส นันทอมรพงศ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย บัณฑิตศึกษา และบริการวิชาการ เป็นตัวแทนวิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) ร่วมกับ 14 หน่วยงานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจสปาเพื่อสุขภาพ สู่การเป็นผู้นำการท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพในระดับสากล โดยมีนายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะประธานบริหารแผนงาน (PC) เป็นประธานในพิธีลงนาม
สำหรับพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยเรื่องดังกล่าวเป็นแผนงานวิจัยและนวัตกรรมที่สำคัญ (Spearhead Research and Innovation Program) ที่เน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศได้อย่างแท้จริง เป็นรูปธรรม และวัดผลได้ สร้างความมั่นคงให้แก่ประเทศตามประเด็นที่กำหนดในยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรม 20 ปี ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยมีผู้เข้าร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจทั้งสิ้น 15 หน่วยงาน ทั้งสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ร่วมกับแผนงานการเตรียมความพร้อมประเทศไทยเชิงรุกให้เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่มีคุณภาพ วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี สมาพันธ์สปาไทย สมาคมสปาไทย สมาคมไทยภาคใต้ สำนักเศรษฐกิจดิจิทัล สมาคมสปาเพื่อสุขภาพจังหวัดภูเก็ต สมาคมสปาสมุย สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต เดอะวิจิตร รีสอร์ท ภูเก็ต และบริษัท บีอาร์ เมริทเทล จำกัด
นายพงษ์ภาณุ กล่าวว่า สกว. ได้เดินหน้าเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูประบบการวิจัยและนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ให้เกิดการนำความรู้และผลงานวิจัยมาเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของประชาชนแต่ละพื้นที่ ตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งรวมถึงการกำหนดให้มีการศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติการจริงในชื่อแผนงาน Spearhead กลุ่มบริการมูลค่าสูง การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งมองว่า แผนงานดังกล่าว ในพื้นที่ภาคใต้ถือว่าเดินมาถูกทาง เพราะความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงภาคประชาสังคมที่เกิดขึ้น ภายใต้แผนงานนี้ จะช่วยแก้ปัญหาอุปสรรค และสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับธุรกิจสปาเพื่อสุขภาพในประเทศ อีกทางหนึ่ง โดยมีนักวิจัย เป็นผู้ขับเคลื่อนเพราะปัจจุบันมีธุรกิจสปาเพื่อสุขภาพในประเทศไทย จำนวนกว่า 13,000 ราย และผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ก็เป็นชาวต่างชาติร้อยละ 75 สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 136,000 ล้านบาท
ดังนั้น ความร่วมมือที่เกิดขึ้นจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจสปาเพื่อสุขภาพในพื้นที่ภาคใต้สู่การเป็นผู้นำการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ในระดับสากล ต่อไป