ทั้งนี้ พลโท พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ได้มอบอุปกรณ์ป้องกัน COVID-19 เพื่อใช้ในพื้นที่โรงพยาบาลสนาม โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.พันธ์ ทองชุมนุม รองอธิการบดีวิทยาเขตภูเก็ต เป็นผู้้รับมอบ
นายแพทย์เฉลิมพล สุคนธผล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต รายงานความคืบหน้า จากสถานการณ์ COVID-19 ที่เริ่มมีปริมาณมากขึ้น จึงจำเป็นที่จะต้องจัดเตรียมสถานที่รองรับสถานการณ์ดังกล่าว การดำเนินการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม แห่งที่ 2 เป็นการเตรียมความพร้อมที่ดีของจังหวัด โดยกำหนดดระยะเวลาการดำเนินการ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการปรับปรุงพื้นที่ภายในอาคารศูนย์กีฬาทั้งนี้จะดำเนินการแล้วเสร็จพร้อมใช้งานภายในวันที่ 15 เมษายน 2563 และมีการซ้อมแผนการปฏิบัติงานในวันที่ 14 เมษายน 2563 โรงพยาบาลสนามแห่งนี้สามารถรองรับได้ 150 เตียง โดยทีมแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ ได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยคณะแพทยศาสตร์ ภายใต้การดูแลของรองศาสตราจารย์พุฒิศักดิ์ พุทธวิบูลย์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ซึ่งจะช่วยในการดูแลเป็นกำลังสำคัญในโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 2 ซึ่งทุกท่านทราบดีว่าเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ของโรงพยาบาลวชิระภูเก็ตได้ทำหน้าที่มาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาอาจเกิดความอ่อนล้าต้องมีสลับผลัดเปลี่ยน ถือเป็นความร่วมมือของทีมแพทย์ร่วมกันช่วยเหลือในสถานการณ์ช่วงเวลานี้
พลโท พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า จากการสรุปตัวเลขในแต่ละวันจังหวัดภูเก็ตมีตัวเลขที่พุ่งขึ้นจำนวนมาก ท่านพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยภูเก็ตและพื้นที่ภาคใต้ที่ตัวเลขสูงขึ้น ผมในฐานะผู้อำนวยการ รมน.ภาค 4 จึงลงพื้นที่เพื่อดูว่าจะสามารถช่วยเหลือในส่วนใดได้บ้าง จากการลงพื้นที่เห็นความพร้อมความร่วมมือด้านบุคลากรทางการแพทย์ที่มาช่วยกัน ตอนนี้เรามาตราการในการทำงานเชิงรุกเมื่อเชิงรุกตัวเลขสูงแน่นอน ตัวเลขสูงแต่หยุดเราต้องยอมรับได้ ดีกว่าสูงไปเรื่อยๆ ซึ่งการสูงแบบนี้แต่ตัวเลขก็มีสิทธิหยุด การตั้งด่านปิดล็อกชุมชนเพื่อทำงานร่วมกัน จังหวัดภูเก็ตมีระบบ การจัดตั้งโรงพยาบาลสนามทั้ง 2 แห่ง การมีทีมแพทย์ทำงานรวดเร็วเพราะความพร้อมและความมุ่งมั่นในการช่วยเหลือประชาชน ขอบคุณแทนคนภูเก็ตที่ทางทีมแพทย์จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จะเข้ามาร่วมกันทำงานเพื่อเอาสถานการณ์ให้อยู่โดยเร็ว
นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวขอบคุณแม่ทัพภาคที่ 4 ที่ห่วงใยคุณภาพชีวิตและลงพื้นที่ร่วมให้กำลังใจตั้งแต่ด่านท่าฉัตรไชย และเยี่ยมโรงพยาบาลสนาม แห่งที่ 1 (ศาลากลางหลังใหม่) ซึ่งเป็นพื้นที่รองรับ 110 เตียง ตอนนี้มีการใช้งานประมาณ 50 เตียง เพื่อความมั่นใจให้พี่น้องประชาชนว่าเรามีแผนการรองรับเป็นอย่างดี และขอยืนยันอีกครั้งว่าบุคลากรการแทพย์และสาธารณสุขของไทยไม่เป็นรองใครในโลกนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขของจังหวัดภูเก็ต ผมและทีมบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขจะอยู่เคียงข้างท่านและพวกเราจะก้าวไปด้วยกันเพื่อหยุดยั้ง COVID-19 โดยเร็ววัน
นอกจากนี้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ร่วมให้ข้อมูลแก่สื่อมวลชนเพิ่มเติมด้านบุคลากรทางการแพทย์ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อปฏิบัติงานโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 2
รองศาสตราจารย์พุฒิศักดิ์ พุทธวิบูลย์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า จากสถานการณ์ที่คนป่วยของจังหวัดภูเก็ตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆและบุคลากรทางการแพทย์บางส่วนต้องกักตัวเนื่องจากการสัมผัสกับผู้ป่วย จากการประเมินสถานการณ์อาจจะขาดอัตรากำลังบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานทั้งที่มีอัตราผู้ป่วยเพิ่มขึ้น คณะแพทยศาสตร์ได้ประสานงานรองอธิการบดีวิทยาเขตภูเก็ต และผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต หากทางมหาวิทยาลัยช่วยแบ่งเบาภาระได้เนื่องจากบุคลากรทางการแพทย์ได้ปฏิบัติงานมาหลายเดือนและทำงานเต็มที่ หากบุคลากรทางการแพทย์จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ช่วยเหลือทางนี้ก็จะเป็นการแบ่งเบาภาระบุคลากรทางการแพทย์ของภูเก็ต ตอนนี้ทางเราเข้าพื้นที่เพื่อประเมินสถานการณ์ ดูพื้นที่ และรับทราบข้อมูลของพื้นที่ บุคลากรทางการแพทย์จากวิทยาเขตหาดใหญ่ชุดแรกประมาณ 20-30 คน ประกอบด้วยแทพย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะต้องวิเคราะห์ข้อมูลวางแผนและจัดหาอาสาสมัคร ซึ่งถ้าคนไข้มากขึ้นเรื่่อยๆ อาสาสมัครก็ต้องมากขึ้นเช่นกัน การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ต้องมีระบบลงทะเบียน ระบบเบิก การส่งต่อผู้ป่วยข้ามเขต หลายๆอย่าง เป็นระบบสาธารณสุขของชาติ เราต้องทำงานร่วมกับทุกโรงพยาบาลในภูเก็ต เพื่อให้การส่งต่อผู้ป่วยไม่เกิดปัญหา สำหรับสถานที่โรงพยาบาลภูเก็ตได้วางแผนไว้อย่างดีแล้ว ซึ่งทางคณะแพทยศาสตร์ก็ต้องไปเตรียมบุคลากรและทรัพยากรให้เหมาะสมกับสถานที่ ซึ่งพื้นที่ภายในอาคารศูนย์กีฬาจะใช้บริเวณชั้น 2, ชั้น 3 และชั้น 4 สำหรับการทำงานในส่วนของพื้นที่จังหวัดสงขลา พื้นที่สามชายแดนภาคใต้ และจังหวัดสตูล เราก็ทำงานกับโรงพยาบาลในเขตพื้นที่ซึ่งจัดสรรทรัพยากรและบุคลากรไว้แล้ว ในส่วนของผู้ป่วยในโรคที่ไม่จำเป็นต้องมาโรงพยาบาลเราก็ให้รับยาที่บ้าน ซึ่งเราก็มีอัตรากำลังเพียงพอที่สามารถระดมมาช่วยจังหวัดภูเก็ตได้
รองศาสตราจารย์ ดร.พันธ์ ทองชุมนุม รองอธิการบดีวิทยาเขตภูเก็ต กล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้เป็นวันหนึ่งที่สงขลานครินทร์ พยายามจะทำหน้าที่ของตัวเองในการช่วยดูแลทุกปัญหา เนื่องจากปัญหา COVID-19 ในพื้นที่ภูเก็ต คงจะหนักกว่าที่อื่น หากเทียบกับจำนวนประชากรน่าจะสูงที่สุดในประเทศ บุคลากรทางการแพทย์ของจังหวัดภูเก็ตเองก็เหนื่อยล้าจากการสู้ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา และมองไปข้างหน้ายังอีกยาวไกล ด้วยความตระหนักดังกล่าวมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จึงได้หารือกันและวันนี้เราได้ตัดสินใจส่งคณะแพทย์ พยาบาล และสาธารณสุขของมหาวิทยาลัยมาดูแลและมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหานี้ครั้งนี้ให้ลุล่วง ขอให้กำลังใจชาวภูเก็ตทุกคน เราจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับการสู้ปัญหาครั้งนี้ไปกับท่าน