AI-TaSI CoC-PSU จับมือกับ รพ.กรุงเทพภูเก็ต และ รพ.กรุงเทพสิริโรจน์ เพื่อวิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์

ศูนย์ AI-TaSI วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ ม.อ.ภูเก็ต จับมือกับ รพ.กรุงเทพภูเก็ต และ รพ.กรุงเทพสิริโรจน์ เพื่อวิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์ ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ
วันที่11 เมษายน 2566 รองศาสตราจารย์ ดร.พันธ์ ทองชุมนุม รองอธิการบดีวิทยาเขตภูเก็ต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อซีส นันทอมรพงศ์ คณบดี วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์, ดร.กาญจนา เหล่าเส็น หัวหน้าศูนย์สารสนเทศศาสตร์บริการและท่องเที่ยวอัจฉริยะอันดามัน และนายแพทย์ณรงค์ฤทธิ์ ฮาวรังษี รองประธานคณะผู้บริหารกลุ่ม 6 บจม กรุงเทพดุสิตเวชการ พร้อมด้วย นายแพทย์พิริยะ อธิสุข รองอำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพสิริโรจน์ ผู้บริหารโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ตและ โรงพยาบาลกรุงเทพสิริโรจน์ ตลอดจนคณะผู้บริหารทั้งสองหน่วยงานร่วมในพิธีและเป็นสักขีพยานในลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง ศูนย์สารสนเทศศาสตร์บริการและท่องเที่ยวอัจฉริยะอันดามัน (AI-TaSI) วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กับ โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต, และ โรงพยาบาลกรุงเทพสิริโรจน์ เพื่อนำเทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ช่วยขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์ ยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพภูเก็ตสู่เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก สอดคล้องนโยบายการพัฒนาประเทศไทยไปสู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub)
รองศาสตราจารย์ ดร.พันธ์ ทองชุมนุม รองอธิการบดีวิทยาเขตภูเก็ต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และหัวหน้าโครงการวิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์ กล่าวว่า เป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDG เป็นการพัฒนาในระดับชาติและนานาชาติ ในหลากหลายประเทศ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนในส่วนของเป้าหมายที่ 3 Good Health and Well Being โดยเน้นการส่งเสริมสุขภาพ ให้ประชากรทุกช่วงวัยมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี โดยการดำเนินการด้าน Good Health and Well Being ของมหาวิทยาลัย มีการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพแบบครบวงจร สามารถผลิตบุคลากรเพื่อช่วยเหลือและดูแลประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ และต่อยอดสนับสนุนด้านการวิจัยภายใต้หน่วยงานและคณะต่าง ๆ มีสวัสดิการดูแลให้กับบุคลากรและนักศึกษามีสุขภาพที่ดีและเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพที่ดี
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต วางเป้าหมายที่ 3 Good Health and Well Being โดยในปี 2563 ได้ดำเนินการจัดตั้ง “ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพนานาชาติดันดามัน” (Andaman Health and Wellness Center) โดยมีแนวคิดในการขยายพื้นที่การดูแลด้านสุขภาพในโซนอันดามัน โดยขับเคลื่อน 3 ด้าน ได้แก่
1. การผลิตบัณฑิตบุคลากรทางด้านสาธารณสุขที่มีความเชี่ยวชาญ มีความสามารถ ควบคู่ไปกับทักษะด้านภาษา ที่สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้และให้บริการด้านการรักษาที่มีคุณภาพ แก่ประชาชนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ
2. การสร้างโรงพยาบาลที่ทันสมัยและรักษาโรคเฉพาะในพื้นที่ฝั่งอันดามัน รองรับการบริการทั้งในพื้นที่ภาคใต้ และนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้ประชากรทุกช่วงวัย
3. การวิจัยและสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ด้านสุขภาพ โดยนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาบูรณาการภายใต้การดูแลของนักวิจัย นักวิชาการ เพื่อคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่มีประโยชน์มากยิ่งขึ้นในอนาคต
โครงการวิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์ เป็นอีกหนึ่งโครงการสำคัญที่ขับเคลื่อนดังกล่าว โดยมีทีมอาจารย์และนักวิจัยจาก ศูนย์สารสนเทศศาสตร์บริการและท่องเที่ยวอัจฉริยะอันดามัน (AI-TaSI) วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นกำลังสำคัญในการนำองค์ความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ ดิจิทัลเทคโนโลยี และปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อสร้างแพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์ไปยังบริการของโรงพยาบาลและบริการท่องเที่ยวของผู้ประกอบการต่าง ๆ อย่างครบวงจร
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อซีส นันทอมรพงศ์ คณบดีวิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มีพันธกิจสำคัญในการผลิตบัณฑิตที่ในตลาดแรงงานทางด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล พัฒนางานวิจัยด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัลที่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ และสร้างสรรค์นวัตกรรม บริการวิชาการด้านคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อชุมชน สังคม ทั้งในและต่างประเทศ
ปัจจุบันวิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีหลักสูตรครอบคลุมศาสตร์ต่าง ๆ ที่จำเป็นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ประกอบด้วย ปริญญาตรี จำนวน 3 หลักสูตร ได้แก่ สาขาวิชาการคอมพิวเตอร์ (Computing), ธุรกิจดิจิทัล (Digital Business), วิศวกรรมดิจิทัล (Digital Engineering), หลักสูตรปริญญาโท จำนวน 2 หลักสูตร ได้แก่ สาขาวิชาการคอมพิวเตอร์ (Computing), สาขาวิทยาการข้อมูล (Data Science) และหลักสูตรปริญญาเอก จำนวน 1 หลักสูตร ได้แก่ สาขาวิชาวิทยาการข้อมูล (Data Science)
นอกจากนี้ วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ยังมีทีมวิจัยต่าง ๆ ที่หลากหลาย เช่นกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีบล็อกเชน กลุ่มวิจัยมัลติมีเดีย กลุ่มวิิจัยทางด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ และศูนย์สารสนเทศศาสตร์บริการและท่องเที่ยวอัจฉริยะอันดามัน (Andaman Intelligent Tourism and Service Informatics Center หรือ AI-TASI) ที่มุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาระบบอัจฉริยะทางด้านการท่องเที่ยวโดยใช้ศาสตร์ทางด้านปัญญาประดิษฐ์ในการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อให้บริการแก่หน่วยงานรัฐ ผู้ประกอบการ ชุมชน และนักท่องเที่ยว
ดร.กาญจนา เหล่าเส็น หัวหน้าศูนย์สารสนเทศศาสตร์บริการและท่องเที่ยวอัจฉริยะอันดามัน กล่าวว่า ศูนย์สารสนเทศศาสตร์บริการและท่องเที่ยวอัจฉริยะอันดามัน (Andaman Intelligent Tourism and Service Informatics Center หรือ AI-TASI) วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต โดยศูนย์วิจัยให้บริการ ดังนี้
1.วิจัยด้านการท่องเที่ยวโดยใช้ศาสตร์ทางด้านปัญญาประดิษฐ์ในการวิเคราะห์ข้อมูล
2.รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลด้านบริการและท่องเที่ยวฝั่งอันดามันเพื่อให้บริการและความรู้แก่หน่วยงานรัฐ ผู้ประกอบการและชุมชนในด้านการท่องเที่ยว
3.ให้คำปรึกษาด้านงานวิจัยด้านการท่องเที่ยวโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์
4.พัฒนาระบบอัจฉริยะด้านการท่องเที่ยวเพื่อยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยว
ปัจจุบันศูนย์วิจัย AI-TaSI มีนักวิจัยที่เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์และการท่องเที่ยวจากหลากหลายภาคส่วน ได้แก่ นักวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต และนักวิจัยจากภาคเอกชน ได้ร่วมกันพัฒนางานวิจัยด้านท่องเที่ยวร่วมกันอย่างต่อเนื่อง
สำหรับที่มาของโครงการวิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์นั้น เกิดจากการที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพในหลายด้าน เช่น การท่องเที่ยว การคมนาคมขนส่ง การบริการ และความเชี่ยวชาญทางการแพทย์ ที่เป็นที่ยอมรับและเชื่อมั่นจากชาวไทยและต่างชาติ ส่งผลให้เกิดความต้องการการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจากนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในจังหวัดภูเก็ต นอกจากนี้ในส่วนของโรงพยาบาลกรุงเทพสิริโรจน์ และโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต มีความต้องการในการเพิ่มรูปแบบการให้บริการทางการแพทย์ผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มที่สามารถรองรับการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism) และให้บริการนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ตั้งแต่ ก่อนเข้ารับการรักษา ระหว่างการรักษา และหลังการรักษา
ดังนั้นโครงการวิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์ จึงตอบโจทย์กลุ่มผู้ใช้งาน ทั้งผู้ให้บริการ เช่น โรงพยาบาล หน่วยงานที่ให้บริการด้านการแพทย์ ผู้ประกอบการการท่องเที่ยว และผู้รับบริการเช่น นักท่องเที่ยวทั้งชาวต่างชาติและชาวไทย โดยแพลตฟอร์์มนี้จะนำเทคโนโลยีด้านปัญญาประดิษฐ์มาประยุกต์ใช้เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์โดยวิเคราะห์ข้อมูลการเข้ารับบริการทางการแพทย์ของนักท่องเที่ยวในมิติต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ ครบวงจร อันนำมาซึ่งการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากชาวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวในภูเก็ต ทั้งนี้เมื่อระบบถูกพัฒนาอย่างสมบูรณ์ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับโรงพยาบาลอื่น ๆ ทั่วประเทศ รวมถึงโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ที่กำลังดำเนินการก่อสร้างและใช้งานแพลตฟอร์มในอนาคตต่อไป
นายแพทย์ณรงค์ฤทธิ์ ฮาวรังษี รองประธานคณะผู้บริหาร กลุ่ม 6 บริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) ผู้อำนวยการ และกรรมการผู้จัดการบริษัท โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต และผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพสิริโรจน์ กล่าวว่า โรงพยาบาลภายใต้เครือบริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS มีความยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการลงนาม MOU ในครั้งนี้ เนื่องด้วยจังหวัดภูเก็ตได้รับการขนานนามว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงามและถูกจัดอันดับให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก มีจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นในทุก ๆ ปี ด้วยปัจจัยสนับสนุนเชิงบวกด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และศักยภาพการแข่งขันในตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ส่งผลให้การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของจังหวัดภูเก็ตมีการเติบโตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องทั้งในด้านรายได้และจำนวนนักท่องเที่ยว สอดคล้องกับกระแสการเติบโตด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของโลกที่นักท่องเที่ยวได้เริ่มให้ความสำคัญในการสร้างความสมดุลของชีวิตทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หรือ Medical Tourism คือการเดินทางท่องเที่ยวเพื่อเยี่ยมชมแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรมเพื่อการเรียนรู้วิถีชีวิต และพักผ่อนหย่อนใจ โดยแบ่งเวลาส่วนหนึ่งจากการท่องเที่ยวไปรับบริการ ทางการแพทย์ในโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลที่มีคุณภาพมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ เช่น การตรวจสุขภาพ การรักษาโรคต่าง ๆ การดูแลผิวพรรณความงาม การทำฟันและการรักษาสุขภาพฟัน รวมไปถึงการผ่าตัดศัลยกรรมตกแต่งความงาม หรือแม้กระทั่งการผ่าตัดแปลงเพศ เป็นต้น
BDMS PHUKET กลุ่มบริการโรงพยาบาลมาตรฐานระดับสากลที่ตอบโจทย์การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หรือ Medical Tourism มีความพร้อมที่จะให้การดูแลผู้รับบริการกลุ่ม Wellness Tourism ทั้งชาวไทยและต่างชาติ โดยศูนย์ดูแลสุขภาพและความงาม “ARTEMES Health and Beauty Destination Phuket” ภายใต้การนำของคณะแพทย์เฉพาะทางจากสถาบันศัลยกรรมตกแต่งความงามภูเก็ต สถาบันผิวหนังและความงาม คลินิกเวชศาสตร์ชะลอวัย และศูนย์ทันตกรรม ศูนย์ดูแลสุขภาพและความงาม “ARTEMES Health and Beauty Destination Phuket” จึงสามารถให้การดูแลสุขภาพและความงามที่ครอบคลุม ครบจบในที่เดียว ตั้งแต่การปรับเปลี่ยนสรีระ การทำทันตกรรมเพื่อเติมเต็มความมั่นใจ เพิ่มคุณภาพชีวิต ไปจนถึงการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันที่ลงลึกถึงระดับฮอร์โมนและเซลล์ให้ยังคงความเยาว์วัย โดยเน้นให้ความสำคัญกับคุณภาพการให้บริการ เพื่อสร้างมาตรฐานและประสบการณ์ทางการแพทย์ที่นำไปสู่ความสุขทั้งภายในและภายนอก สะท้อนความเป็นตัวตนที่ผู้รับบริการออกแบบร่วมกับคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และทีมงานมืออาชีพ
จากข้อมูลในปี 2562 ที่ผ่านมา จังหวัดภูเก็ตมีชื่อเสียงในตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์โดยเฉพาะในด้านศัลยกรรมตกแต่งความงาม และการชะลอวัย โดยร้อยละ 70 ของลูกค้าศัลยกรรมตกแต่งความงาม คือ นักท่องเที่ยวจากประเทศออสเตรเลีย ในขณะที่ลูกค้ากลุ่มหลักของการบริการชะลอวัย คือ นักท่องเที่ยวชาวจีน ที่เลือกใช้บริการการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในจังหวัดภูเก็ตด้วยเพราะปัจจัยต่าง ๆ อาทิ โรงพยาบาลในจังหวัดภูเก็ตมีมาตรฐานในระดับสากลผ่านการรับรองคุณภาพ JCI บุคลากรทางการแพทย์มีความรู้ความสามารถทักษะความชำนาญเฉพาะด้าน มีเทคโนโลยีอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย รวมไปถึงความคุ้มค่าในการบริการที่เหมาะสมกับคุณภาพที่ได้รับ
ดังนั้น จากความการร่วมมือระหว่าง BDMS PHUKET และศูนย์สารสนเทศศาสตร์บริการและท่องเที่ยวอัจฉริยะอันดามัน วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จังหวัดภูเก็ต ในการใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์ จะทำให้จังหวัดภูเก็ตมีศักยภาพสูงในการก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางรองรับนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก เป็นต้นแบบเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของประเทศไทยต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้